ผู้หญิงคนเดียวก็เที่ยวได้ x เที่ยวแนวใหม่กับ OTOP นวัตวิถี


เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ปอมีโอกาสได้ไปร่วมโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งปอเชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP มากันบ้างแล้ว ซึ่งโครงการนี้จะเน้นที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของแต่ละตำบลเท่านั้น แต่ OTOP นวัตวิถี จะรวมไปถึงเรื่องราวของชุมชน, ข้อมูลผลิตภัณฑ์ OTOP, อาหารท้องถิ่น, สถานที่ท่องเที่ยว, อัตลักษณ์และวิถีของชุมชนรวมไปถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งจังหวัดที่ปอมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสการท่องเที่ยวแบบ OTOP นวัตวิถีก็คือ กาญจนบุรีและสุพรรณบุรีค่ะ


อยากบอกว่าทั้งสองจังหวัด เป็นที่ที่ใกล้ตัวปอมากๆแต่ไม่เคยรู้เลยว่าจะมีความน่าสนใจทั้งสถานที่ท่องเที่ยว (ที่ไม่เคยคิดว่าแถวบ้านเรามีแบบนี้ด้วยหรอ 55) อาหารพื้นบ้าน, วิถีชีวิตของคนในชุมชนแบบโบราณในหลายๆที่, สินค้า OTOP ที่น่าสนใจ รวมไปถึงความสนุกสนานที่ปอได้ไปร่วมกิจกรรมกับคนในพื้นที่ นับว่าเป็นของดีใกล้ตัวที่มองข้าม เลยอยากมาบอกต่อให้เพื่อนๆแฟนเพจได้ไปลองสัมผัสด้วยตัวเองกันดูว่าจะประทับใจแบบที่ปอเจอมั้ย :)



แพลนโปรแกรมของปอ แบ่งออกเป็นการไปเยี่ยมชม 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี (บ้านเกิิดของปอเอง) จะขอแบ่งชุมชนที่ได้ไปเยี่ยมชมดังนี้

1) กาญจนบุรี - บ้านหนองทราย (ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน)
                      - บ้านหนองขาว (อำเภอท่าม่วง)
2) สุพรรณบุรี - ป่าสะแก (อำเภอเดิมบางนางบวช) พุน้ำร้อน (อำเภอด่านช้าง)
                      - พุน้ำร้อน (อำเภอด่านช้าง)

แต่ละชุมชนและพื้นที่มีความน่าสนใจและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จะขอเริ่มความประทับใจจากจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ

การมาหนองขาวและหนองทรายจากกรุงเทพก็มาไม่ยากเลยค่ะ เพราะอยู่ไม่ได้ไกลจากตัวเมืองกาญจนบุรี เสิร์ชตามกูเกิลแมพมาได้ง่ายๆ

สถานที่แรกที่ปอมาเยี่ยมชม คือ บ้านหนองขาว (หลายคนอาจจะรู้จักที่นี่จากผ้าขาวม้าร้อยสี) แต่เด็กรุ่นหลังๆอาจจะไม่รู้จักหรือมีโอกาสได้ใช้ผ้าขาวม้ากันแล้ว




คนที่นี่เป็นคนไทย 100%   จะพูดเหน่อ แต่มีประเพณีต่างๆเป็นแบบมอญ อาชีพหลักคือทำนา  ถ้าว่างก็ไปทอผ้า ไปก่อสร้าง ทำไร่ผักชี ปลูกพริก
ชุมชนนี้มีคำขวัญเพราะๆ คือ

    " ผ้าทอหนองขาว -สะเดาลือชื่อ - ข้าวหอมซ้อมมือ - เลื่องลือน้ำตาลสด - งดงามวัฒนธรรม"

ซึ่งคำขวัญนี้ก็ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนนี้ได้เป็นอย่างดี


 ปอเริ่มทริปที่หนองขาวด้วยการไปไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองของที่นี่ ขอพรเอาฤกษ์เอาชัยก่อน ที่นี่เป็นพระปางป่าเลไลยก์




โดยถ้าสิ่งที่เราขอเป็นจริง คนมักจะมาแก้บนในวันสงกรานต์ 13-15 เมษ มีละครพื้นบ้านที่รับช่วงต่อมาหลายรุ่น เป็นละครเพลงที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนหนองขาว พระเอกชื่อไอบุญ  ตัวโกงชื่อไอทอง  นางเอกชื่อน้ำตาล ชื่อละครนี้คือ ไอ้บุญทอง บ้านหนองขาว มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ / เวอร์ชั่นเพลงแจ๊ส (เก๋ๆไปอีก)แถมมีบทสั้นให้เด็กๆ แสดงได้ด้วย ประมาณ 30 นาที และที่วัดแห่งนี้ก็มีพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวชุมชนที่นี่ให้เราเข้าชมได้ฟรีๆ





ไม่ไกลจากวัดมากเท่าไหร่ จะมีบ้านเพลงผ้า อย่างที่ได้เล่าไปตอนแรกว่าผ้าขาวม้าร้อยสีเป็นของดีบ้านหนองขาว  แล้วมันคืออะไรล่ะ? ผ้าขาวม้าร้อยสีเกิดจากการนำเส้นด้ายสีๆมาร้อยเรียงเป็นผืนผ้า  ซึ่งที่้านเพลงผ้าจะโชว์ให้เราได้เห็นกระบวนการต่างๆกว่าจะได้ผ้าขาวม้าร้อยสีสักผืนนึง ต้องผ่านการ คัด-เดิน-ค้น-ร้อย-หวี เดินไปมา 12 เที่ยว ได้ 3 กม  ใช้ด้าย 88 หลอด ได้ 1 เที่ยว ต้องหยิบเส้นให้ถูกลาย ผ่านกระบวนการจนสุดท้ายได้ผ้ายาว 140 ม กว่าง 80  cm (เดิน 12 เที่ยว) แอบไปลองทำมาด้วย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลยค่ะ การทอเป็นแบบใช้กี่กระตุก





หลังจากนั้นปอตามไปดู "ดงตาล" โลเคชั่นที่เคยใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์สมเด็จพระนเรศวร ตอนประกาศอิสรภาพ รวมไปถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องทั้งเพลงรักบ้านนาและบางระจัน ที่นี่มีคุณลุงขึ้นตาลไปเก็บตาลพอดี โดยได้ชิมตาลสดๆเลยค่ะ






หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เห็นการทำขวัญข้าว


 และการปิ้งข้าวเกรียบ (ไม่ง่ายอีกแล้ว 55)

คุณป้าช่วยลุ้นมากๆ ว่าจะไหม้มั้ย 555


หลังจากตะลอนทัวร์มาหลายที่ก็หิวค่ะ เลยมาจบที่ร้านครัวอนงค์ เคยออกรายการครัวคุณต๋อย เมนูเด็ดคือ กระดูกอ่อนผัดใบยี่หร่า (เด็ดมากจริงๆ)




อาหารพื้นบ้านอื่นๆก็มี แกงเลียงตำลึงใส่ถั่ว น้ำยาขนมจีนใส่ถั่ว น้ำพริกกะปิมอญ (กะปิปลา-กะปิดำ) ความเปรี้ยวจากมะขาม/ มะขวิด (มะสังข์) กะปิไทยคือ กะปิแดง ใส่กุ้ง เคย,รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนผสมของตาล เช่น  แกงคั่วหัวตาล , แกงส้มหัวตาล ใส่ปลาย่าง , แกงบอน (คนแกงแกงไม่ดีจะคัน) ใบเปราะ เอามาแกงหรือยำ

ความโดดเด่นทางความเชื่อแบบมอญ คือการมี หม้อยายในห้องนอนของเกือบทุกบ้าน หม้อยายเป็นเหมือนสัญลักษณ์การนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านหนองขาวเชื่อว่ายายจะเป็นผู้ปกปักรักษาให้ทุกคนในบ้านมีความสุข ยายจะช่วยเหลือดูแลให้ทุกคนพ้นภยันตรายทั้งปวง ดังนั้น เมื่อลูกหลานแต่งงานและแยกครัวออกไปเป็นของตนเองก็จะต้องรับยายไปอยู่ด้วย




อีกหนึ่งความเชื่อ คือ ความเชื่อถ้าจัดงานมงคลต้องไหว้ศาล ที่นี่จะมี 5 ศาล ศาลพ่อแม่อยู่ตรงกลาง

-ศาลพ่อแม่ ก่อนไปทำงาน มีกับข้าวคาวหวาน
- ศาลพ่อพระราม มีร่างทรง แรม 1 ค่ำ เดือน 6
- ศาลเจ้าพ่อห้วยหินล่ำ - ขอฝน
- ศาลยาย - เดือน 7
- ศาลพ่อปู่ ทำเป็นจั่วเล็กๆ ทุกบ้านจะมีคนหนองขาวอยู่ที่ไหนก็จะมี  จะไว้ตรงทิศเหนือตรงห้องนอน


นับว่าบ้านหนองขาวมีความหลากหลายทางประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ รวมไปถึงอาหารและวิถีชีวิตของคนที่นี่

ต่อจากนั้นปอเดินทางไปอีกหนึ่งชุมชนที่ปอชอบและประทับใจมากที่สุดที่หนึ่ง คือ บ้านหนองทราย ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนในหมู่บ้าน ขวัญใจของปอคือคุณแม่แพนเค้กและน้องเบาหวาน มาค่ะ มาดูความน่ารักของหมู่บ้านนี้กัน



ตั้งแต่ขับรถเข้ามาก็จะเจอโอ่งขนาดใหญ่ๆมีสีสันแตกต่างกัน และเขียนชื่อต่างกัน มาทราบตอนเจอพี่ๆในหมู่บ้านว่า มันคือ โอ่งคุ้มบ้าน โดยชุมชนที่นี่จะแบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้าน แต่ละเขตจะใช้สีและชื่อที่แตกต่างกัน (น่ารักเนอะ) ดังนี้

เขต 1  สีฟ้า
เขต 2  สีเหลือง
เขต 3  สีชมพู
เขต 4  สีเขียว
เขต 5  สีส้ม



และแต่ละหมู่บ้านก็จะมีของดีประจำหมู่บ้าน ก่อนที่จะเริ่มไปดูที่ต่างๆ ปอก็ได้เจอการสาธิตการทำขนมทองม้วนสด ซึ่งที่นี่มีเอกลักษณ์คือแบบกรอบนอกนุ่มใน ต้องทานตอนร้อนๆอร่อยมากจริงๆ ไม่เคยชิมที่ไหนมาก่อน และต่อด้วยการทำไม้กวาดทางมะพร้าวที่ใช้เทคนิคการมัดเฉพาะตัว ทำให้มีความแข็งแรงคงทนมากๆ

กรอบนอกนุ่มใน

อีกอย่างที่อยากพูดถึงก็คือการแต่งกายของพี่ๆที่หมู่บ้านนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันมากค่ะ ชุดแต่ละชุดสวยๆเด็ดๆทั้งนั้น


หลังจากนั้นปอได้นั่งรถเยี่ยมชมแบบ first class สนุกสนานจริงๆค่ะ ไปตะลุยกันทีละหมู่บ้านเลย



เรื่องอาหารท้องถิ่น พี่ๆก็จัดอาหารไว้ให้ยิ่งใหญ่อลังการ โดยเมนูสำรับวันนี้ที่จะได้ชิมคือ ยำใบมะกอก , ผัดผัก -ใบชะยา (มะกอกกินใบ) ,น้ำพริกกะปิ ,แกงคั่วหอยจุ๊บ, ปลาแดดเดียว , แกงส้มผักรวมมะละกอ - ผักปลูกเอง และ แกงสำรวม เป็นการเอาแกงทุกอย่างรวมแล้วใส่กะเพรา



หมู่บ้านแรกที่เราไปคือ หมู่ 5 ซึ่งทำจักสาน มีของน่ารักๆราคาไม่แพงให้ได้เลือกช้อปกันด้วยค่ะ ปอชอบฝาชีกับกระบอกใส่น้ำมากๆ ซื้อมาแจกแฟนเพจด้วย 3 คน รอเล่นเกมหน้าเพจนะคะ



หมู่ 4 เด่นเรื่องการทำพริกแกง พริกเเกงที่นี่ใช้ของดีๆมาตำเอง คนตำเป็นพี่ผู้ชายคนนี้ค่ะ รสชาติอร่อย แอบซื้อมาให้คุณยายปอทำอาหารด้วย



หมู่ 3  มีบ้านพักพอเพียง ที่สร้างด้วยไม้เก่าราคาทั้งหลัง 4000 บาท ที่นี่เปิดให้เป็นโฮมสเตย์ด้วยค่ะ คืนละ 200 บาทเท่านั้น และมีผ้าทอเป็นของดีอีกด้วย




หมู่ 2 ขนมนางเล็ด ไส้เดือน และน้ำตะไคร้

 

และทีเด็ดของที่นี่ก้คือน้องเบาหวาน (หุ่นไล่กาของที่นี่) ร่วมแชะภาพประทับใจกับน้องก่อนจะจากกันค่ะ



สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากๆของหมู่บ้านที่นี่คือความร่วมมือร่วมใจกันของคนในหมู่บ้าน และการหาเอกลักษณ์และกิจกรรมของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งบอกตามตรงว่ามาเที่ยวที่นี่ไม่ผิดหวังแน่นอน ได้ทั้งความสนุกและได้ดูวิถีชิวิตของคนที่นี่แบบที่ไม่คิดว่าจะทำออกมาได้ดีขนาดนี้ค่ะ




หลังจากไปเยี่ยมชมจังหวัดอื่นแล้ว มาดูของดีที่จังหวัดตัวเองบ้างค่ะ หลายคนอาจจะพอทราบมาบ้างว่าปอเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ใช้ชีวิตที่นั่นถึงแค่ประมาณ ม 3 แล้วก็ไปเรียนต่อที่อื่น (ไม่ค่อยมีโอกาสได้อยู่บ้าน) ทำให้ปอก็ไม่เคยไปสถานที่ที่จะแนะนำอีกสองที่นี้เลย มันก็แปลกๆดีเนอะ ไปเที่ยวมาทั่วแต่ที่ใกล้ๆตัวเองยังไม่เคยไป

ขอเริ่มที่ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวชค่ะ ที่นี่อยู่ห่างออกจากตัวเมืองจังหวัดสุพรรณบุรีพอสมควร ขับรถออกมาประมาณชั่วโมงนึงค่ะ แฟนคลับรุ่นแม่ปอจะรู้จักที่นี่ดีเพราะเป็นบ้านเกิดของสายัณห์ สัญญา ที่นี่ก็มีชื่อเสียงด้านการทอผ้า




ป่าสะแกในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ของป่าระหว่างเมือง ทำให้เป็นชุมชนที่มีความรุ่งเรืองคึกคัก แต่หลังจากที่มีสงครามไทย-พม่า ทำให้เมืองร้างไปพักนึง จนสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวลาวเวียง ลาวครึ่งอพยพมาอยู่ป่าสะแกเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยชาวไทยและจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีความผสมผสานทางวัฒนธรรมและประเพณีของทั้งไทย, จีนและลาว

สิ่งที่น่าสนใจของที่นี่ก้คือ "ตลาดกลางดงเสือ" ที่จะเปิดทุกๆวันเสาร์อาทิตย์ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 ตลาดจะมีลักษณะเป็นซุ้มเล็กๆอยู่ในวัดเลยค่ะ ภายในก็มีผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของที่นี่มีขายหลายอย่าง อาทิเช่น ผ้าทอมือลาวชี-ลาวครั่ง, ขนมกงโบราณ(ช่วงนี้งานแต่งเยอะ คนขายไปออกงานบ่อยมากค่ะ ปอเลยอดเจอเลย) , แห, ไข่เค็มสมุนไพร (ดอนมะเกลือ) 




ผ้าทอมือสวยมากๆค่ะ ผืนนี้ราคาหลายพัน ! 

มื้อเที่ยงปอได้ฝากท้องกับก๋วยเตี๋ยวยายจิต วัดป่าสะแก ซึ่งเป็นร้านคู่ชุมชนมามากกว่า 50 ปี ราคาเป็นมิตร รสขาติใช้ได้ค่ะ เป็นก๋วยเตี๋ยวสไตล์โบราณค่ะ


อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คืออาหารสำรับบ้านป่าสะแก ซึ่งประกอบไปด้วย แกงบวนท่านขุน ต้มยำกระเสียว แจ่วหมู กากหมูทรงเครื่อง ขนมไข่ปลา และขนมกง


สถานที่เที่ยวที่นี่มีให้เลือกหลายแนว

สำหรับสายวัด สายบุญแนะนำให้สักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง(รอยพระพุทธบาทสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงก่อนพม่ามาบุก) , หลวงพ่อนาค , หลวงพ่อสามพี่น้อง



สายพิพิธภัณฑ์ก็มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านป่าสะแก มีวัตถุโบราณ  เสากลึง (ไม้พะยูง- คล้ายตาตั๊กแตน - ราคาประมาณ 1 ล้านบาท)

สายธรรมชาติก็มี Sky walk ที่เป็นสะพานยาวๆพาดไปกลางทุ่งนา เอาไว้ให้ถ่ายรูปกันเก๋ๆก่อนกลับค่ะ



สำหรับคนที่สนใจเที่ยวแนว OTOP นวัตวิถี สัมผัสชีวิตชุมชุนริมคลองกระเสียว สามารถติดต่อได้ที่ 087-1623295 ค่ะ

สำหรับที่สุดท้ายเป็นบ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง (หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในชื่อ ปางอุ๋งเมืองสุพรรณ)




ชุมชนพุน้ำร้อนเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมาก มีป่าไม้รายล้อม คำขวัญของที่นี่ก็คือ

"มรดกป่าไม้ มากมายประเพณี หน่อไม้ดี เห็ดโคนหวาน แหล่งขวานหิน ถิ่นทอผ้า บ่อน้ำร้อน"

ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของที่นี่มีหลากหลายเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอตีนจกลายโบราณ ทองม้วนกรอบ ผลิตภัณฑ์จักสาน กะหรี่ปั๊บ หน่อไม้ เป็นต้น


บริเวณหน้าวัดพุน้ำร้อนจะมีตลาดที่ขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายอย่าง ได้เจอคนขายหน่อไม้และทำทองม้วนกรอบสดๆให้ดูค่ะ รสชาติอร่อยแบบละลายในปาก



ส่วนภายในวัดจะมีพิพิธ๓ัณฑ์ชุมชนที่แสดงวัตถุโบราณที่พบในพื้นที่ตั้งแต่ยุคหินใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน

หลังจากนั้นปอเดินทางไปสู่จุดหมายที่หลายๆคนรู้จักกันดีคือ อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง มีค่าธรรมเนียมเอารถเข้า 20 บาท ถนนครึ่งทางจากทางเข้าค่อนข้างดี แต่ช่วงกิโลเมตรท้ายๆจะขรุขระนิดนึง ถ้ามีรถแนว 4wheels ไปน่าจะดีค่ะ แต่ขับรถเก๋งเข้าไปก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ภายในประกอบด้วยร้านค้าขายสินค้าชุมชน


รวมไปถึงร้านอาหารที่จัดสำรับอาหารท้องถิ่นของที่นี่ลักษณะคล้ายๆขันโตก ภายในประกอบด้วย ปลาเผา ผักต้ม ผัดสด น้ำพริกเผา(อร่อยมากก) น้ำจิ้มซีฟู้ด ต้มยำไก่ และข้าวหนึ่งโถ สามารถกินอิ่มๆได้เลยทั้งครอบครัวค่ะ



ภายในอ่างเก็บน้ำจะมีแพเป็นหลังๆ ราคาคืนละ 400 บาท ส่วนหลังใหญ่ราคา 1000 บาท มีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง ทั้งคายัค ปั่นเรือถีบยักษ์ เรียกได้ว่าถ้าได้มานอนพักผ่อนความเครียดจากชีวิตยุ่งๆในกรุงเทพ ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ไม่ไกลจาก กทม ราคาประหยัด บรรยากาศดี อยู่ท่ามกลางเขา



ถ้าไม่สะดวกเที่ยวเองก็สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของบ้านพุน้ำร้อนได้ที่ 092-4933833

สำหรับทริปที่ได้ไปสัมผัสชีวิตและเรียนรู้อะไรใหม่ๆกับจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและเปิดมุมมองการท่องเที่ยวเชิงนวัตวิถีซึ่งเรามีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดกับคนในท้องที่จริงๆ


จองตั๋วเครื่องบิน กับ Jetradar